ฝืนความเคยชิน เพื่อความปลอดภัยในการดำน้ำ

มีผู้รู้เคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อนักดำน้ำตกอยู่ภายใต้ความเครียด เขาจะลืมทุกอย่างที่เรียนรู้มาและจะมีพฤติกรรมตามสัญชาตญาณ การมีหน้ากากและเร็กฯ อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เคยชินหรือสิ่งที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ"

ในฐานะผู้สอนดำน้ำ พวกเราคงเคยพบเรื่องราวที่สัญชาตญาณมีอิทธิพลเหนือสิ่งที่เรียนรู้มากันคนละหลายครั้งนะครับ เมื่อมันเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ความลึกแล้วละก็ เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันหนักและเป็นเรื่องที่น่ากลัวในการเผชิญหน้ากับมัน

สิ่งแรกและสิ่งที่ลำบากสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ นักดำน้ำที่มีความกลัวและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอดดรีนาลีนนั้น จะมีกำลังมากกว่าปกติ ยากมากทึ่จะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ภายใต้อำนาจของเราได้โดยง่ายครับ

จากข้อเขียนของนาย Barton S. Zuckerman ในนิตยสาร Dive Training ฉบับเดือนมกราคม 2007 เขาได้กล่าวว่า เขาได้พบกับเหตุการณ์ที่นักดำน้ำ panic และถอดหน้ากากออกใต้น้ำ เริ่มจากการที่เห็นว่านักเรียนของเขามีน้ำอยู่ในหน้ากาก ตาของนักดำน้ำก็จะโต (หรือมีนัยน์ตาที่เบิกกว้างนั่นเองครับ) และความรู้สึกสับสนกับอาการเริ่ม panic ก็จะก่อตัวขึ้นในจิตใจของนักดำน้ำคนนั้น ถึงแม้ว่านักดำน้ำยังสามารถคุมสติและสมาธิได้ ขณะเดียวกันก็กำลังพยายามสงบจิตใจอยู่ แต่นายบาร์ตันก็รู้สึกว่านักดำน้ำไม่ได้หายใจออกทางจมูกเพื่อเคลียร์น้ำในหน้ากาก แต่กลับทำสิ่งที่คลาสสิคมากสำหรับความผิดพลาดในการไล่น้ำออกจากหน้ากาก คือหายใจออกทางปากขณะที่เงยหน้าขึ้น

แรงโน้มถ่วงของโลกซึ่งยังมีอิทธิพลอยู่ถึงแม้จะอยู่ใต้ทะเล ก็นำเอาน้ำในหน้ากากเข้าไปในรูจมูกของนักเรียนผู้นั้น จากนั้นนักเรียนก็เริ่มจะมีอาการ panic อย่างควบคุมไม่ได้ นายบาร์ตันบอกว่า เขาถอดหน้ากากของนักเรียนออกและบีบจมูกไว้ ซึ่งทำให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมทันที นักดำน้ำก็ผ่อนคลาย หลับตา และหายใจเข้าออกตามปกติ ถึงแม้ว่าจะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างทุลักทุเลและต้องคุยกันยาวหน่อย แต่มันก็ปลอดภัย

นักเรียนที่ประสบเหตุบอกภายหลังว่า เขารู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายทันทีที่หน้ากากหลุดออกจากใบหน้า และรับรู้ว่าผู้สอนได้ควบคุมสถานการณ์ไว้แล้ว

นายบาร์ตันกล่าวว่า เขาแน่ใจว่าเขาไม่ใช่ผู้สอนคนแรกหรือคนสุดท้ายที่ทำแบบนี้แน่นอน แต่เขาก็ไม่เคยได้ยิน ว่ามีการบอกเล่าหรือสอนเทคนิคนี้กัน ก็เป็นวิธีที่เขาจะเก็บไว้ใช้เมื่อพบกับสถานการณ์แบบนี้อีก และอยากจะแบ่งปันกันกับผู้สอนคนอื่นๆ ครับ

ข้อมูลจาก นิตยสาร Dive Training: January 2007
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
ปรับปรุงล่าสุด 14 ส.ค. 2550