สรุป
เราสามารถตรวจเช็คสภาพของเร็กกูเลเตอร์ได้เบื้องต้น โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือขั้นสูง ทำได้โดยนักดำน้ำทั่วไป
- ตั้งแต่การตรวจสภาพภายนอก การผุกร่อน ความเสียหาย การเปลี่ยนสีของวัสดุ การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ และการเช็คการกันน้ำของ second stage ด้วยวิธีง่ายๆ
- ไปจนถึงการตรวจเช็คการตั้งค่าที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน และความเสียหายหรือความเสื่อมของส่วนประกอบภายใน first stage/second stage โดยวิธีทดสอบง่ายๆ แล้วดูอาการที่ปรากฏออกมา เช่น อาการ free-flow หลังจากลองสูดอากาศไม่กี่ครั้ง เป็นต้น
ข้อปฏิบัติที่แนะนำสำหรับอุปกรณ์ดำน้ำที่สำคัญต่อชีวิตใต้น้ำของเรานี้ คือ เช็คก่อน (เกิดปัญหา) และเช็คบ่อยๆ
แหล่งความรู้ที่ดีมากสำหรับผู้สนใจศึกษาการถอดประกอบหรือตรวจซ่อมเร็กกูเลเตอร์ด้วยตนเอง คือตำราหลัก 2 เล่มของวงการดำน้ำทั่วโลก ได้แก่
- Scuba Regulator Maintenance And Repair by Vance Harlow
- Regulator Savvy by Pete Wolfinger from Scuba Tools
(หากคุณสนใจอยากลองอ่านหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ก่อนสั่งซื้อจริงจากออนไลน์ ลองแวะมาที่ร้านเราได้เลยครับ)
ในบรรดาอุปกรณ์ดำน้ำที่จำเป็นต่อการดำน้ำทั้งหมด เร็กกูเลเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ดูจะเข้าใจยากที่สุดสำหรับผู้ใช้ทั่วไป และบ่อยครั้งก็มักจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจเช็คประจำปี (หรือ 2 ปี) เท่านั้น โดยที่เจ้าของไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น นอกจากทำความสะอาดให้ดีที่สุดหลังจากใช้งานเท่านั้น
แต่ที่จริงยังมีวิธีการตรวจเช็คเบื้องต้นที่ผู้ใช้ทั่วไปก็สามารถทำได้ อย่างน้อยถ้าลองทำดูก่อนจะไปออกทริป ก็จะช่วยให้สบายใจได้ว่า เรามีเร็กกูเลเตอร์ที่ดีพอจะใช้งานในทริปนั้นได้อย่างปลอดภัย
นี่เป็นรายการการตรวจเช็คเร็กกูเลเตอร์ที่เป็นที่นิยมและกล่าวถึงกันในอินเทอร์เน็ตมาเป็นสิบปี มีผู้นำไปใช้แล้วมาแลกเปลี่ยนความเห็น เสนอแนะ ปรับปรุงกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปัจจุบัน รายการเหล่านี้สามารถใช้ได้กับเร็กกูเลเตอร์ส่วนใหญ่ในตลาด แต่อาจมีบางรายการที่ไม่เหมาะเฉพาะกับบางรุ่นบางยี่ห้อ หากคุณไม่แน่ใจรายการใดลองค้นคว้าเพิ่มเติมได้ครับ
รายการตรวจเช็คที่ไม่ต้องสวมถังอากาศ (Inspection while Unpressurized)
- ตรวจสภาพการผุกร่อนหรือความเสียหายภายนอก มองหาร่องรอยพลาสติกหรือยางที่แห้งแตก สังเกตดูสายอากาศที่แห้งกรอบหรือเปราะแตก สังเกตที่ขั้วต่อระหว่างสายกับ first stage และ second stage ว่ามีร่องรอยความเสียหาย หรือบิดเบี้ยวหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน
- ตรวจการเชื่อมต่อระหว่างสายกับ first stage และ second stage ว่าแน่นหนาดี (อย่างน้อยต้องไม่สามารถหมุนให้คลายออกมาด้วยมือเปล่าของเราได้) รายการนี้ควรทำอยู่เสมอๆ และจำเป็นต้องทำภายหลังการส่งให้ช่าง service หรือประกอบอุปกรณ์กลับมา
- ตรวจดูไส้กรองภายใน first stage ว่ามีสีเปลี่ยนไป (เช่น สีของสนิม) มีสิ่งแปลกปลอมเกาะอยู่ หรือมีสิ่งบ่งบอกว่ามีน้ำรั่วเข้าไป
- เช็คการกันน้ำ (watertight check) ของ second stage โดยการปิด first stage ด้วยจุก dust cap ให้เรียบร้อย (อาจครอบถังอากาศแทน dust cap ก็ได้ แต่ต้องปิดวาล์วถังอากาศเอาไว้) ลองคาบ second stage แล้วสูดอากาศเข้าเบาๆ ค้างไว้ 2-3 วินาที หากภายใน second stage ยังคงเป็นสุญญากาศ แสดงว่า กันน้ำได้ปกติ แต่ถ้ามีอากาศเข้าไปได้ (อาจมีเสียงฟี๊บเบาๆ) แสดงว่าอาจมีรอยรั่วที่ exhaust valve, แผ่นไดอะแฟรม (diaphragm), ฝาครอบ, หรือตัว second stage มีรอยแตกได้
รายการตรวจเช็คที่ต้องใช้ถังอากาศ (Inspection while Pressurized)
- หลังจากสวมถังอากาศ เปิดวาล์วให้อากาศไหลเข้าสายแล้ว ลองกดปุ่ม purge valve เบาๆ ถ้าคุณต้องออกแรงกดมาก ก่อนที่จะมีเสียงอากาศไหล แสดงว่า กระเดื่องหรือ orifice อาจตั้งไว้ไม่เหมาะสม
- เช็คอากาศรั่ว (air leak) โดยการมองหารอยแตกหรือแนบหูฟังเสียงลมรั่วออกมาตามสายอากาศ ลองปิดวาล์วถังอากาศ (แต่อย่ากดปุ่ม purge valve ที่ second stage) จำตัวเลข pressure gauge บอกปริมาณอากาศภายในแทงค์ แล้วปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ 5-10 นาที กลับมาดูปริมาณอากาศอีกครั้งควรจะใกล้เคียงค่าเดิม (อาจลดลงไปได้เล็กน้อย แต่ไม่ควรเกิน 400 psi หรือ 25 บาร์) หากลดลงมากแสดงว่าอาจมีปัญหาใหญ่และควรซ่อมแซมก่อนใช้งาน
- วิธีการค้นหารอยรั่วที่ดีที่สุด คือนำเร็กกูเลเตอร์ทั้งชุดที่ยังสวมถังอากาศอยู่ จุ่มลงในแทงค์น้ำหรือสระน้ำหรือทะเล หากไม่มีแหล่งน้ำที่สะดวก อาจใช้น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานละลายน้ำ ไล่ทาให้ทั่วอุปกรณ์แล้วสังเกตฟองอากาศ ลองสังเกตจุดที่เชื่อมต่อระหว่างแต่ละชิ้น ทั้ง first stage, second stage, pressure gauge ไปจนถึง mouth piece
- เราสามารถเช็คความดันอากาศที่ใช้ในการเปิดวาล์ว (cracking pressure) ของ second stage ได้โดยการจุ่ม second stage ลงในน้ำโดยหงายให้ mouth piece อยู่ด้านบนและปุ่ม purge valve อยู่ด้านล่าง ในขณะที่เร็กกูเลเตอร์สวมกับถังอากาศอยู่ โดยปกติเมื่อจุ่มลงไปเพียงประมาณ 1-1.5 นิ้ว อากาศก็ควรเริ่มไหลออกมาแล้ว แต่ถ้าต้องจุ่มจน mouth piece จมมิด แสดงว่า second stage นี้ต้องได้รับการตรวจสอบแล้ว (cracking pressure สูงเกินไป)
- หลังจากปล่อยเร็กกูเลเตอร์รับอากาศจากถังไว้ครู่หนึ่งแล้ว ลองสังเกตว่า second stage มีอาการ free-flow หรือไม่ (free-flow คือ อากาศยังคงไหลออกมาตลอดเวลา หลังจากที่คุณกดปุ่ม purge และปล่อยแล้ว หรือสูดหายใจเข้าและหยุดแล้ว) หากอาการเกิดขึ้นทันทีหลังจากทำเช่นนั้น แสดงว่า second stage อาจต้องได้รับการตั้งค่าใหม่หรือตรวจซ่อม แต่ถ้าอาการเกิดขึ้นโดยเว้นระยะ 2-3 วินาทีหรือ 2-3 นาที แสดงว่า มีการรั่วซึมของ intermediate pressure (IP) ซึ่งมักจะเกิดจาก hige pressure seat รั่ว หรือ orifice ของ first stage เสียหาย (ถ้าคุณไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ก็เข้าใจง่ายๆ ว่าได้เวลาซ่อมบำรุงแล้วครับ)
- เช็คความดันอากาศ IP (ขั้นตอนนี้ต้องใช้ IP gauge ซึ่งหาซื้อได้จากร้านดำน้ำที่มีบริการตรวจเช็คอุปกรณ์ดำน้ำ)
ค้นหาสเป็คของเร็กกูเลเตอร์ที่คุณใช้ (หรือกำหนดเองให้เหมาะสม) ว่าควรตั้งค่า IP ที่เท่าไหร่ (โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 135 +/- 10 psi หรือ 8.6-10 บาร์) จากนั้นลองสวมเร็กกูเลเตอร์เข้ากับถังอากาศ เปิดวาล์ว แล้วใช้ IP gauge สวมเข้ากับสาย LP ลองกดปุ่ม purge 2-3 ครั้งเพื่อให้เร็กกูเลเตอร์ทำงาน
ค่า IP ควรตกลงเล็กน้อยเมื่ออากาศไหลออกมา ก่อนกลับเข้าสู่ค่าที่ควรจะเป็นและอยู่นิ่งคงที่ แต่ถ้ามันค่อยๆ ไต่เพิ่มขึ้นแสดงว่า first stage มีปัญหาและต้องได้รับการซ่อมแซม ทั้งนี้ หากไม่ปรากฏอาการที่ว่ามานี้ คุณอาจปล่อยชุดอุปกรณ์และ IP gauge ทิ้งไว้อย่างนั้นอีกพักหนึ่งก่อนจะทดสอบอีกครั้งก็ได้ เพื่อเช็คอาการรั่วซึมที่เกิดขึ้นช้า (slow IP creep)
อย่างไรก็ตาม การทดสอบในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องเข้าใจว่า first stage แบบ balanced และ non-balanced จะแสดงอาการแตกต่างกันต่อการเปลี่ยนความดันอากาศในถัง กล่าวคือ balanced first stage ควรจะมีค่า IP ค่อนข้างคงที่ไม่ว่าอากาศในถังจะอยู่ที่ระดับใด และหากปรากฏว่า IP เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตามการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศในถังก็แสดงว่า first stage นั้นมีปัญหา ส่วน IP ของ non-balanced first stage นั้นจะแตกต่างกันได้หลาย psi เมื่อความดันอากาศในถังเปลี่ยนไป รวมทั้ง ปริมาณและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงก็แตกต่างกันตามแต่การออกแบบด้วย สิ่งสำคัญคือ IP ไม่ควรจะซึม (ไต่ระดับ) ขึ้นหรือลงระหว่างที่สิ่งอื่นๆ คงที่และอยู่ภายในสเป็คของผู้ผลิต - ข้อสุดท้ายที่อาจจะขั้นสูงเล็กน้อย คือการทำความสะอาด second stage ด้วยตัวเอง โดยการเปิดฝาครอบไดอะแฟรมออกมา เพื่อดูร่องรอยความเสียหาย การผุกร่อน และทำความสะอาดเศษกรวดทราย และคราบต่างๆ ตามสมควร จากนั้นลองสังเกต exhaust valve ว่าประกอบได้เรียบร้อย สนิทดี ไม่มีอะไรไปติดและขัดขวางการทำงานอยู่
ทั้งนี้ เร็กกูเลเตอร์บางยี่ห้อออกแบบมาให้เปิดถอดล้างได้ง่ายมาก แต่บางรุ่นก็อาจจะไม่ ต้องลองหาแหล่งความรู้ในเรื่องนี้ดูครับ บางทีเร็กกูเลเตอร์ของคุณอาจจะจัดการได้ง่ายๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีอุปกรณ์ดีๆ ใช้ไปได้นานๆ ด้วยงบประมาณที่ประหยัดขึ้นก็ได้ (ทั้งนี้ ขึ้นกับความถนัดและความสบายใจของคุณที่จะทำด้วยนะครับ ถ้าคุณไม่มั่นใจที่จะทำเอง ลองปรึกษาร้านดำน้ำที่เชื่อถือได้ดูครับ)
เหล่านี้คือการตรวจสอบที่สามารถทำได้ด้วยตัวเราเอง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนมาก ซึ่งเราอาจทำได้ทั้งก่อนออกทริป, ตรวจเช็คอุปกรณ์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ หรือหลังจากรับคืนจากศูนย์บริการที่ตรวจซ่อมให้เราเรียบร้อยแล้ว (ซึ่งบางทีก็ไม่เรียบร้อย) ก็ได้
อย่างไรก็ตาม เร็กกูเลเตอร์บางรุ่นหรือบางแบบ อาจมีระบบการทำงานแตกต่างกันออกไป เช่น เร็กกูเลเตอร์แบบ over-balanced อาจทดสอบแบบข้อ 10. แล้วให้ผลต่างกันบางอย่าง หรือเร็กกูเลเตอร์ของ Sherwood หลายรุ่นได้รับการออกแบบมาให้มีอากาศซึมออกมาเล็กน้อยเพื่อประโยชน์บางอย่าง (สามารถทดสอบด้วยวิธีข้างต้นได้ แต่ต้องเข้าใจผลบางอย่างที่ต่างกันเล็กน้อย) ใครที่ใช้เร็กกูเลเตอร์แบบนี้อยู่ ก็อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกนิดเพื่อประกอบการตรวจสอบตามรายการข้างต้นนี้
ข้อปฏิบัติที่แนะนำสำหรับอุปกรณ์ดำน้ำที่สำคัญต่อชีวิตใต้น้ำของเรานี้ คือ เช็คก่อน (เกิดปัญหา) และเช็คบ่อยๆ
แหล่งความรู้ที่ดีมากสำหรับผู้สนใจศึกษาการถอดประกอบหรือตรวจซ่อมเร็กกูเลเตอร์ด้วยตนเอง คือตำราหลัก 2 เล่มของวงการดำน้ำทั่วโลก ได้แก่
- Scuba Regulator Maintenance And Repair by Vance Harlow
- Regulator Savvy by Pete Wolfinger from Scuba Tools
(หากคุณสนใจอยากลองอ่านหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ก่อนสั่งซื้อจริงจากออนไลน์ ลองแวะมาที่ร้านเราได้เลยครับ)