หมู่เกาะสิมิลัน

หมู่เกาะสิมิลัน
ประเภทการดำน้ำ Boat Diving
ระดับการดำน้ำ ทุกระดับ ตั้งแต่มือใหม่ ยกเว้นบางจุดจะต้องเป็นนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
ความลึก 5 - 40 เมตร
ทัศนวิสัยใต้น้ำ 20 - 40 เมตร
กระแสน้ำ None - Strong
อุณหภูมิน้ำ 27-30 °C
จุดดำน้ำ
  • เกาะตาชัย
  • เกาะบอน
  • คริสต์มาสพอยต์
  • ต้นไม้ 3 ต้น
  • อ่าวนำชัย
  • อ่าวเกือกม้า
  • แฟนตาซีรีฟ
  • หินหัวกะโหลก
  • East of Eden
  • West of Eden
  • Deep Six
  • เกาะหก
  • หินม้วนเดียว
  • เกาะสี่ (Stonehedge)
  • เกาะปาหยัน
ฤดูท่องเที่ยว พ.ย. - เม.ย. (อุทยานฯ ปิดฤดูท่องเที่ยวในช่วง 1 พ.ค. - 31 ต.ค.)
สิ่งที่น่าสนใจ แนวปะการังสวยงาม, ฉลามวาฬ, ฉลามเสือดาว, กระเบนราหู, เต่าทะเล, ฝูงโลมาปากขวด, ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ, ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ, ปลานกแก้วหัวโหนก ฯลฯ

ข้อมูลทั่วไป

เป็นหมู่เกาะในเขตอุทยานแห่งชาติที่ได้ชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของนักดำน้ำ”

จุดเด่นคือน้ำทะเลสีฟ้าใส หาดทรายขาวละเอียด ฝูงปลามากมาย

คำว่า “สิมิลัน” มาจากภาษายาวี แปลว่า “เก้า” ซึ่งหมายถึงเกาะทั้งหมด 9 เกาะ แต่ต่อมาได้ผนวกรวม “เกาะตาชัย” และ “เกาะบอน” เข้าไปด้วย ทำให้ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 เกาะ

เกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะนี้ คือ “เกาะสิมิลันหรือเกาะแปด” ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์อุทยานและจุดกางเตนท์ที่อ่าวเกือกม้าทางตอนเหนือของเกาะ และมีเส้นทางขึ้นเขาเพื่อไป “จุดชมวิวหินเรือใบ”

เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองคือ “เกาะเมี่ยงหรือเกาะสี่” ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ มีจุดกางเตนท์และบ้านพักของอุทยานฯ (ต้องจองล่วงหน้า)

ส่วนเกาะอื่นๆ ที่เปิดสำหรับการดำน้ำรอบๆ แต่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะ คือ เกาะห้า เกาะหก เกาะเจ็ด (เกาะปายู) เกาะเก้า (เกาะบางู) เกาะบอน และเกาะตาชัย

ในขณะที่เกาะหนึ่ง (เกาะหูยง) เกาะสอง (เกาะปายัง) และเกาะสาม (เกาะปาหยัน) เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ เพื่อสงวนให้เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล

นอกจากความสมบูรณ์ของธรรมชาติใต้น้ำแล้ว ผืนป่าบนเกาะยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ พญากระรอกดำ ปูไก่ (ปูที่มีเสียงร้องเหมือนไก่) และนกสีสวยประจำถิ่นที่พบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทยอย่าง “นกชาปีไหน”

เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา แนวปะการังได้รับผลกระทบจากน้ำเสียจากนักท่องเที่ยวที่พักค้าง ทำให้ปัจจุบันทางอุทยานฯ ปิดการพักค้างบนเกาะอย่างไม่มีกำหนด โดยนักท่องเที่ยวที่ดำน้ำตื้น สามารถซื้อทัวร์เช้าไปเย็นกลับจากฝั่ง ส่วนนักดำน้ำลึก มักนิยมเดินทางด้วยเรือ liveaboard

จุดดำน้ำ (รายละเอียด)

เกาะตาชัย

เป็นจุดดำน้ำลึกที่ได้รับความนิยม มีปะการังอ่อนและกัลปังหาสีสันสวยงาม สัตว์น้ำหลากหลาย เช่น ปลากบ ปลาสาก ปลาหูช้าง ทากทะเลหลายชนิด มีโอกาสเจอฉลามวาฬและกระเบนราหู

เกาะบอน

เป็นจุดดำน้ำลึกที่น่าสนใจอีกแห่ง ขึ้นชื่อเรื่องฝูงปลาชุกชุม มีทากทะเลหลายชนิด มีโอกาสลุ้นฉลามวาฬและกระเบนราหูดีกว่าที่อื่น

เกาะเก้า (เกาะบางู)

คริสต์มาสพอยต์ : เป็นจุดดำน้ำลึก มีปะการังอ่อนและกัลปังหาขนาดใหญ่  
ฝั่งตะวันออก : มีแนวปะการังแข็ง และเป็นจุดชมปลาไหลสวน
ต้นไม้ 3 ต้น : เป็นแนวปะการังลาดชัน สามารถเจอฉลามเสือดาวแถวๆ กองหินในที่ลึก 22 เมตรลงไป รวมถึงสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างเช่น pygmy pipehorse ส่วนในที่ลึก 26-35 เมตร ก็มีคนเคยเจอปลาโรนันสุดหายาก
อ่าวนำชัย : เป็นจุด Night Dive ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เจอกุ้งผึ้งน้อย (Bubble Bee) ได้ไม่ยาก มีทากทะเลหลากหลายชนิด แม้นักท่องเที่ยวที่ดำน้ำตื้นก็สามารถเจอเต่าทะเลได้ง่ายๆ

เกาะแปด (เกาะสิมิลัน)

อ่าวเกือกม้า (Donald Duck Bay) : เป็นอ่าวรูปร่างคล้ายเกือกม้า ตรงปลายแหลมมีหินขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายเรือใบเรียก “หินเรือใบ” ใต้น้ำมีแนวปะการังและสัตว์น้ำหลากหลาย เช่น กุ้งมังกร กั้งกระดาน ปลานกแก้ว ปลาตาเดียว ฯลฯ

ฝั่งตะวันออก : มีแนวปะการังขนานกับชายฝั่งจนถึงหัวเกาะ แต่ไม่อนุญาตให้เรือเข้าเทียบชายหาด การดำน้ำตื้นต้องเดินเท้าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติจากอ่าวเกือกไปเท่านั้น โดยใช้เวลา 1.5-2 ชั่วโมง และต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ส่วนการดำน้ำลึก เรือสามารถจอดในที่ลึกได้ จุดที่นิยมคืออ่าวกวางเอน (Beacon Reef) และ Beacon Point

แฟนตาซีรีฟ : เป็นกองหินที่เป็นแหล่งรวมของสัตว์ทะเลมากมาย เช่น ปลาไหลริบบินสีฟ้า ปลาบู่สีเพลิง (ปัจจุบันอยู่ระหว่างปิดฟื้นฟู)

หินปูซาร์ (หินหัวช้าง, หินหัวกะโหลก, Elephant Head Rock) : เป็นกองหินพ้นน้ำที่มีหุบเหวใต้น้ำและโพรงถ้ำ ความลึก 20-50 เมตร สามารถพบฉลาม เต่าทะเล กระเบนราหู กั้งตั๊กแตน ปลาสากฝูงใหญ่ รวมถึงปลากบ เหมาะกับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์เนื่องจากมีกระแสน้ำแรง

เกาะเจ็ด (เกาะปายู)

East of Eden (เรือนกล้วยไม้, Pergola) : แนวปะการังอยู่ระหว่าง 5-35 เมตร เหมาะทั้งการดำน้ำตื้นและการดำน้ำลึก มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง เช่น ปลากบ กุ้งนักมวย ปลาแมงป่อง ปลาไหลมอร์เรย์ ไปจนถึงงูทะเล
West of Eden : เป็นจุดดำน้ำลึกที่ดีมากอีกแห่ง เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งจากปะการังอ่อน กัลปังหา ทากทะเลหลากชนิด ปลาวัวตัวตลก ส่วนในที่ลึกก็อาจเจอฉลามหูดำและฉลามครีบขาวได้ ส่วนปลากบ ปลาสาก ปลาทูนาก็มีโอกาสเจอได้

Deep Six : เป็นจุดดำน้ำลึกสำหรับผู้มีประสบการณ์เนื่องจากน้ำค่อนข้างแรง ความลึกสูงสุด 40 เมตร ซึ่งในที่ลึกสามารถเจอฉลามครีบขาว ฉลามเสือดาว กระเบนจุดฟ้า

เกาะหก

ฝั่งตะวันออก : มีชายหาดและแนวปะการังสำหรับดำน้ำตื้น
ฝั่งตะวันตก : มีกองหินใต้น้ำและปะการังขึ้นกระจัดกระจาย เหมาะสำหรับดำน้ำลึก มีปลาสวยงามหลายชนิด พบเจอเต่าทะเลได้ง่าย

เกาะห้า

หินม้วนเดียว / สวนปลาไหล (Eel Garden, Anita’s Reef) : เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยปะการังอ่อนและกัลปังหา ปลาหลากหลายชนิด นับตั้งแต่พวกสีสันโดดเด่นไปจนถึงนักพรางตัว บนพื้นทรายมีปลาไหลสวนจำนวนมากจนได้ชื่อว่าสวนปลาไหล

เกาะสี่ (เกาะเมี่ยง)

หาดหน้าและหาดเล็ก : เป็นจุดดำน้ำตื้น มีปะการังกระจายเป็นหย่อม มีปลาสวยงาม เช่น ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร รวมถึงทากทะเล

Stonehedge : เป็นหินก้อนใหญ่ตั้งตระหง่าน กระแสน้ำค่อนข้างแรง ใต้น้ำมีหน้าผาและซอกหลืบให้ว่ายลอด มีสัตว์ที่น่าสนใจตั้งแต่ตัวเล็กๆ อย่างปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ไปจนถึงสัตว์ใหญ่อย่างฉลามเสือดาว ฉลามครีบขาว ฉลามหูดำ และถ้าโชคดีก็มีโอกาสเจอปลาโรนันได้

กำแพงเมืองจีน : เป็นจุดดำน้ำลึกที่เป็นแนวหินใต้น้ำทอดยาว มีปลาน่าสนใจหลายชนิด เช่น ปลาไหลริบบินสีสด ปลาไหลมอร์เรย์หลายชนิด ปลายูนิคอร์นหัวโหนก ปลาวัวตัวตลก ฯลฯ กระแสน้ำอาจค่อนข้างแรง

เกาะสาม (เกาะปาหยัน)

หินสันฉลาม, หินแพ (Shark Fin Reef, Hin phae) : เป็นหินใต้น้ำที่มีโอกาสเจอสัตว์ใหญ่ เช่น กระเบนราหู ฉลามเสือดาว ไปจนถึงปลานกแก้วหัวโหนก หรือปลานกขุนทองนโปเลียน

สัตว์ทะเลที่น่าสนใจ

  • แนวปะการังสวยงาม ทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน กัลปังหา แส้ทะเล ดอกไม้ทะเล
  • ถ้าโชคดี นักท่องเที่ยวบนเรืออาจได้เจอฝูงโลมาปากขวดว่ายน้ำเล่น บางทีอาจมีมากถึงหนึ่งร้อยตัว นอกจากนั้น ยังเคยมีนักท่องเที่ยวได้พบฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ (False killer whale) ไปจนถึงวาฬหายากอย่างวาฬโอมูระ
  • เป็นจุดวางไข่ของเต่าทะเล นักดำน้ำสามารถพบเต่าทะเลได้บ่อยครั้ง ทั้งการดำน้ำตื้นและการดำน้ำลึก มีทั้งเต่าตนุ เต่ากระ และเต่ามะเฟือง
  • สำหรับนักดำน้ำสายมาโคร หมู่เกาะแห่งนี้ก็มีทากทะเลให้มองหากว่า 200 สปีชีส์ อีกทั้งยังมีกุ้งผึ้งน้อย, กุ้งนักมวย, ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ, pygmy pipehorse ฯลฯ
  • ส่วนนักดำน้ำที่โปรดปรานสัตว์ใหญ่ ก็สามารถลุ้นฉลามวาฬและกระเบนราหู ซึ่งมีโอกาสสมหวังสูง นอกจากนั้น ยังมีโอกาสเจอฉลามอีกหลายชนิด ทั้งฉลามหูดำ ฉลามครีบขาว ฉลามเสือดาว ไปจนถึงลูกครึ่งกึ่งฉลามกึ่งกระเบนอย่างปลาโรนันสุดหายาก
  • สัตว์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น หมึกสาย กระเบนจุดฟ้า ปลาไหลสวน ปลาไหลริบบิน ปลาวัวตัวตลก ปลานกแก้วหัวโหนก ปลายูนิคอร์น งูทะเล ปลาสิงโต ฯลฯ

การเดินทาง

สำหรับการดำน้ำลึก หมู่เกาะสิมิลันเป็นจุดดำน้ำหลักของทริป liveaboard เส้นทางอันดามันเหนือ ซึ่งนักดำน้ำส่วนใหญ่จะเลือกทริปแบบนี้ เพื่อจะได้ดำน้ำครอบคลุมตอนเหนือของทะเลอันดามัน มากกว่าจะเจาะจงมาดำน้ำที่หมู่เกาะสิมิลันเพียงแห่งเดียว

ส่วนผู้ที่ต้องการดำน้ำที่หมู่เกาะสิมิลันโดยเฉพาะ ก็สามารถเลือกใช้บริการจากผู้จัดทริปซึ่งมีทั้งที่เขาหลักหรือท่าเรือคุระบุรี จังหวัดพังงา และในจังหวัดภูเก็ต

ปัจจุบันนี้ เรือที่ให้บริการไปหมู่เกาะสิมิลันทั้งหมดเป็นของบริษัทเอกชน โดยเป็นแบบเช้าไปเย็นกลับ สำหรับการดำน้ำตื้น มักออกจากท่าเรือทับละมุ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

การเดินทางมาจังหวัดพังงา หากมาทางเครื่องบิน สามารถลงได้ 2 สนามบิน คือ สนามบินระนอง (ห่างจากท่าเรือคุระบุรีประมาณ 88 กิโลเมตร) หรือสนามบินภูเก็ต (ห่างจากท่าเรือคุระบุรี 169 กิโลเมตร)

หากเดินทางมาโดยรถทัวร์ สามารถลงที่ปากทางท่าเรือทับละมุและติดต่อบริษัททัวร์ให้มารับไปท่าเรือได้ ส่วนการเดินทางโดยรถไฟจะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และต้องต่อรถตู้มา

 พังงา (เขาหลัก, ทับละมุ)

การเดินทางมายังพังงา (เขาหลัก, ทับละมุ)

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดพังงาได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง

  • รถประจำทางรถโดยสารประจำทางบริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ กรุงเทพฯ-พังงา บริการทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2874 6122 และบริษัทเดินรถเอกชน คือ บริษัท ลิกไนท์ทัวร์ โทร. 0 2894 6151-2 สถานีพังงา ถนนเพชรเกษม (หลังธนาคารนครหลวงไทย) โทร. 0 2641 2300, 0 7641 2014
  • รถยนต์เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา รวมระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และจากจังหวัดชุมพรให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดเข้าสู่ตัวเมืองพังงา
  • ส่วนการเดินทางโดยรถไฟจะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และต้องต่อรถตู้มาอีก

จังหวัดพังงาไม่มีสนามบิน หากต้องการเดินทางมาทางเครื่องบิน สามารถลงได้ 2 สนามบิน คือ

  • สนามบินระนอง (ห่างจากท่าเรือคุระบุรีประมาณ 88 กิโลเมตร) หรือ
  • สนามบินภูเก็ต (ห่างจากท่าเรือคุระบุรี 169 กิโลเมตร)

การรักษาพยาบาล

สถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงที่มีเครื่อง Recompression Chamber

โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 (ฐานทัพเรือทับละมุ) ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ. พังงา โทร 076 453 342