คาร์บอนไดออกไซด์กับการดำน้ำ

เร็วๆ นี้ เราได้คุยกันถึงเรื่อง Shallow Water Blackout และเรื่องอุบัติเหตุในการดำน้ำ ทั้ง Skin Dive และ SCUBA กันมาพอสมควรนะครับ ทำให้เกิดความสนใจ ไปค้นคว้าเพิ่มเติม เจอบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องของคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีความสำคัญกับการดำน้ำ ก็เลยมาเล่าสู่กันฟังครับ

เนื่องจาก นักดำน้ำทั้งสองแบบ จำเป็นต้องหายใจผ่านอุปกรณ์ ที่ทำให้เกิด Dead Air Space หรือช่องอากาศตาย (อันที่จริง เป็นอากาศเหลือใช้ ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง) การหายใจที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการสะสม และเพิ่มขึ้นของก๊าซดังกล่าวนี้ และนำไปสู่สถานการณ์ ที่อันตรายได้ครับ

เช่นในกรณี ที่เราหายใจด้วยเร็กฯ ที่ไม่ได้รับ การดูแลที่ดีพอ และไม่จ่ายอากาศให้เพียงพอ ต่อความต้องการ หรือมีความฝืด มากเกินไป ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ ในร่างกายของเรา และทำให้ร่างกายของเรา เพิ่มความถี่ในการหายใจขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน กับที่เราหายใจมากขึ้น เร็กฯ ไม่สามารถจ่ายอากาศให้เพียงพอ และหากเราออกแรงมาก หรือยู่ใต้ความลึกมากๆ ก็จะเกิดอาการขาดอากาศ (หรือรู้สึกเหมือนอากาศ ไม่เพียงพอต่อการหายใจ) และนำไปสู่การ panic ได้อย่างง่ายดาย

เร็กกุเลเตอร์ส่วนมาก มักจะไม่มีปัญหาอะไรเลยนะครับ หากเราดำน้ำสบายๆ ภายใต้ความลึกไม่เกิน 18 เมตร (60 ฟุต) แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น เหนื่อย หรืออยู่ลึก เกินความลึกดังกล่าว เร็กฯ ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะทำให้เราปลอดภัย จากการจ่ายอากาศไม่เพียงพอได้ครับ

สรุปแล้ว สำหรับการดำน้ำแบบ SCUBA เราคงต้องหัดหายใจ ให้มีประสิทธิภาพ คือหายใจลึกๆ ยาวๆ ในขณะเดียวกัน เราต้องใช้เร็กกุเลเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ และได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เท่านั้นนะครับ จึงจะปลอดภัยจากการเพิ่มระดับ คาร์บอนไดออกไซด์ (Hypercapnia) ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และหายใจถี่กระชั้น และอาจก่อให้เกิดการหมดสติ และจมน้ำได้ในที่สุดครับ

ส่วนการดำน้ำแบบ Snorkelling หรือการ Skin Dive นั้น ปริมาณคาร์บอนได้ออกไซด์อาจเพิ่มขึ้น จากระดับปกติเพียง 3-5% กลายเป็น 25% ได้อย่างรวดเร็วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราไม่หายใจลึกๆ ยาวๆ นี่แหละครับ คือ สาเหตุว่าทำไม นักดำน้ำแบบนี้ จึงรู้สึกหายใจไม่พอ และต้องเอา Snorkel ออกจากปาก หลังจากหายใจด้วย Snorkel ได้สักพักหนึ่ง

เทคนิคที่ผู้รู้เขาแนะนำไว้ ก็คือ ให้หายใจเข้าทางปาก และหายใจออกทางจมูกครับ วิธีนี้จะทำให้อากาศใน Snorkel เป็นอากาศใหม่ 100% ง่ายจังเลยนะครับ แต่ก็เป็นวิธีการ ที่มีคุณค่ามากนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาเราต้องเหนื่อย ขณะใช้ Snorkel เช่น เวลาไปช่วยกู้ภัยบนผิวน้ำไงล่ะครับ

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 23 ส.ค. 2550