ต้องเรียนอีกแล้วหรือ?

ต้องเรียนอีกแล้วหรือ?
เรียนไปทำไม?
เรียนแล้วได้อะไร?
แล้ว เรียนไปแล้วจะได้ใช้แค่ครั้งเดียว รึเปล่า?
เรียนไปแล้วจะมีเพื่อนดำน้ำด้วยรึเปล่า?

สำหรับคนที่เป็นนักดำน้ำแล้ว หรือนักดำน้ำที่ผ่านคอร์ส Open Water Diver และ Advanced Open Water มาแล้ว เมื่อมีเพื่อนหรือครูชวนเรียนทักษะดำน้ำเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Nitrox, Wreck Specialty, Deep Specialty, Rescue Diver, และอื่นๆ อีกมากมาย เราก็จะมีคำถามเหล่านี้ขึ้นมา การที่เราเริ่มตั้งคำถามเหล่านี้ แสดงว่าเราเริ่มสนใจที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นของการเป็นนักดำน้ำที่ดี เพราะ นักดำน้ำที่ดีนั้น คือนักดำน้ำที่ใฝ่ศึกษาและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

หากเราจะมองดูเรื่องเกี่ยวกับทะเลในภาพรวมนั้น เรายังรู้เรื่องใต้ทะเลน้อยมาก ทุกวันนี้ยังมีการศึกษา วิจัย ค้นคว้า อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ทะเลทั้งปลาสวยงามและปลาเศรษฐกิจ ปะการังและความสัมพันธ์ร่วมกันที่ก่อให้เกิดระบบนิเวศนี้ เราในฐานะนักดำน้ำ คงได้เก็บเกี่ยวจากผลการศึกษาหรือจากผลวิจัยเหล่านี้ เพื่อที่จะเข้าใจถึงธรรมชาติที่เราลงไปสัมผัสอยู่ ทำให้เราไม่ไปทำร้ายธรรมชาติโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนี่ก็คือหนึ่งในคุณสมบัติของนักดำน้ำที่ดี คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เรารู้จริงและรู้ลึก

ทำไมเราต้องเรียนต่อไปเรื่อยๆ ในเมื่อเราก็ดำน้ำเป็นแล้ว?

การเรียนรู้เพิ่มเติมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่า เป็นการเรียนรู้ทักษะการดำน้ำเพิ่มเติมทั้งนั้น เพราะการดำน้ำในบางที่ เช่น การดำน้ำเย็น การดำน้ำแข็ง การดำน้ำในถ้ำ การดำน้ำในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป การดำน้ำลึกเกิน 30 เมตร การดำน้ำทำงานต่างๆ จะต้องมีทักษะเฉพาะ และความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอันตรายที่พบได้ในการดำน้ำเหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น การดำน้ำในถ้ำ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ดำน้ำเป็นก็สามารถเช่าถังอากาศและเข้าไปดำน้ำในถ้ำได้ คนที่จะเข้าไปดำน้ำในถ้ำต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งความพร้อมทางด้านจิตใจ ด้านอุปกรณ์ และทางด้านทักษะเฉพาะทางด้านการลอยตัว และยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องไปเรียนถึงจะรู้

ฉะนั้น หากเราชอบและหลงใหลการดำน้ำในที่แคบ มืด และเปียก สิ่งที่ควรทำคือการหาหนังสือเรื่องการดำน้ำในถ้ำมาอ่าน การเข้าอินเตอร์เน็ทและตามอ่านเรื่องราวการดำน้ำในถ้ำ   อ่านไปเรื่อยๆ เพิ่มเติมความรู้ และถ้ายังคิดว่าชอบอยู่ ก็ควรจะหาที่เรียนให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่าไปครูพักลักจำ หรือลองโดยไม่รู้อย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงการดำน้ำในถ้ำ เพราะเราอาจจะไม่มีโอกาสกลับออกมาจากถ้ำมาเล่าถึงความโชคดีของเราก็ได้

หากตัวอย่างข้างบนยังเป็นอะไรที่ไกลตัวอยู่ ลองดูตัวอย่างเรื่องการเรียน Enriched Air Diver (EAN) หรือ การเรียนการใช้อากาศผสมที่มีส่วนผสมของออกซิเจนมากกว่าอากาศธรรมดา หรือ มีส่วนผสมของออกซิเจนตั้งแต่ 22 เปอร์เซ็นต์ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

หากเป็นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คงต้องบอกว่า หาครูไม่ได้ หาที่เรียนสะดวกไม่ได้ หาที่เช่าถังอากาศแบบนี้ไม่ได้ แต่ปัจจุบันการใช้อากาศ EAN นั้นเป็นที่แพร่หลาย มีให้ใช้อยู่ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยแล้ว

ล่าสุดใน Training Bulletin ของ PADI ได้ออกมาประกาศ standard ใหม่สำหรับการเรียนการสอน Enriched Air Diver ให้สะดวกยิ่งกว่าร้านสะดวกซื้ออีก โดยการเรียนการสอน Enriched Air Diver ต่อไปนี้ สามารถเรียนใน class ได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาถังอากาศออกไปดำน้ำกันจริงๆ แล้ว แต่การสอนต้องครอบคลุม โดยมีการวางแผนการออกไปดำน้ำจริงๆ ด้วยถังอากาศที่มีอากาศผสม EAN เรียนรู้การคำนวณต่างๆ เรียนรู้ถึงอันตรายต่างๆ เรียนรู้ถึงที่มาที่ไปของอากาศ EAN การออกทะเลถือเป็นทางเลือก (optional) ออกก็ได้ไม่ออกก็ได้ ไม่ได้บังคับในมาตรฐานแล้ว

ซึ่งในฐานะ Enriched Air Diver คนหนึ่ง ฉันก็เห็นด้วยกับ standard ใหม่นี้ เพราะการออกสอบภาคทะเลของ Enriched Air Diver สำคัญอยู่ที่การสอนให้ใช้เครื่องวัดอออกซิเจน (Oxygen Analyzer) การดูว่าถังนี้มีออกซิเจนอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ การลงบันทึกพร้อมเซ็นชื่อลงบนถังอากาศ   ส่วนการลงไปดำน้ำพร้อมถัง EAN คือการลงไปดำน้ำเล่นๆ 2 ไดฟ์เท่านั้น

ทางด้านอุปกรณ์ดำน้ำเราแทบไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ดำน้ำที่มีอยู่เลย regulator ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ทำมาจาก Titanium นั้น สามารถใช้กับอากาศผสมได้จนถึง 40%

เรือ liveaboard ที่มีให้บริการก็มีหลายลำ เช่น Divemaster 1 หรือ Aqua One ร้านที่ให้เช่าในกรุงเทพฯ ก็มีร้าน Zcubatec แถมส่งให้ถึงที่พัทยาอีกต่างหาก หากต้องการเช่าที่พัทยาก็สามารถติดต่อที่ Mermaid หาดจอมเทียนแต่ต้องเข้าไปรับและคืนถังอากาศเองถึงร้าน

ฉะนั้นในเมื่อมีการใช้อากาศ EAN ที่แพร่หลาย มีการเรียนการสอนที่ไม่ได้ถือว่าหายากหรือเรียนยาก ส่วนราคาเรียน ฉันคิดว่าตอนนี้คงไม่มีที่ไหนในโลกสอนดำน้ำทุกประเภทถูกกว่าเมืองไทยใจดีของเรา แถมอุปกรณ์ดำน้ำที่ไม่ต้องเปลี่ยนหรือไปซื้อใหม่ ขนาดนี้แล้ว หากมีเวลาและมีเงินพอเรียน ก็ควรจะเรียนไว้ประดับความรู้ตัวเอง

เรียนไปไม่ได้ดำน้ำอากาศแบบนี้ ก็ยังได้ความรู้ติดตัวไว้ เพราะในเมื่อเราเป็นนักดำน้ำ และเมื่อเรายังดำน้ำอยู่บ่อยๆ เราอาจจะมีโอกาสได้ขึ้นเรือลำใดลำหนึ่งที่มีคนเอาอากาศพิเศษเหล่านี้มาดำน้ำด้วย เราจะได้ไม่ต้องไปถามเขาว่าใช้ทำอะไร ทำไมต้องใช้ หรือที่สำคัญเราจะได้ไม่ไปหยิบถังอากาศหน้าตาแบบนี้มาใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนทำให้เป็นอันตรายแก่ตัวเองได้

เหตุผลสนับสนุนที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อเรียนไปแล้ว ไม่ว่าเราจะไปดำน้ำที่ไหน เรามีโอกาสที่จะเลือกว่า จะใช้อากาศอะไร ใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ดีกว่าที่ไปถึงแล้วมีให้ใช้  อยากจะใช้ แต่ใช้ไม่ได้เพราะยังไม่ได้เรียน

เรียนเพื่อเอาบัตร หรือ เรียนเพื่อเอาความรู้?

โปรดจำไว้ว่า ประเด็นสำคัญของการเรียนรู้ในระดับนี้คือ เรียนเพื่อรู้ เราไม่ได้ถูกบังคับให้ไปเรียนเหมือนสมัยเด็กๆ อีกแล้ว เงินก็เงินของเรา เวลาที่เสียไป เราควรที่จะได้ความรู้กลับมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บัตรดำน้ำนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ที่สำคัญคือความรู้ที่เราได้มา เราได้เรียนรู้และฝึกฝนถึงทักษะที่จำเป็นครบถ้วนแล้วหรือไม่ เราได้เรียนรู้ครอบคลุมถึงอันตรายทั้งหมดที่อาจจะเกิดกับการใช้อุปกรณ์พิเศษนี้หรืออากาศพิเศษนี้แล้วหรือไม่ วิธีทดสอบง่ายๆ เมื่อเรียนจบแล้ว ให้ตั้งคำถามตัวเองกลับมาว่า เรียนทำไม? เรียนแล้วได้อะไร? ใช้ยังไง? แล้วตอบตัวเองให้ละเอียด หากตอบได้ถือว่าเราได้เรียนรู้แล้ว ถ้าตอบไม่ได้ ให้กลับไปถามครูใหม่

เวลาเรียน หากไม่รู้จะถามอะไร ให้ตั้งคำถามไว้ในใจว่า อะไร? ทำไม? อย่างไร? โดยสิ่งที่เราเรียนนั้น คืออะไร เป็นมาอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นแบบนี้ สุดท้าย ใช้อย่างไร คำถามพวกนี้จะทำให้เรารู้อะไร รู้ลึกและรู้จริง

ควรจะเลือกเรียนอะไรก่อนดี ?

Rescue Diver, Enriched Air Diver, Wreck Specialty, Navigation Specialty, Deep Specialty, Cave Specialty, Tech Diver, Divemaster, Instructor และอื่นๆ อีกมากมาย…..

ตอบแบบง่ายๆ ฟันธงไม่ต้องคิดมาก ก็เลือกเรียนสิ่งที่เราสนใจก่อนเป็นดีที่สุด เพราะมีความสนใจเป็นทุนอยู่แล้ว การเรียนไม่ว่าจะฝนตกแดดออกก็คงต้องฝ่าฟันให้เรียนให้จบ ให้ได้ความรู้และมีทักษะที่พร้อมสำหรับการดำน้ำเฉพาะแบบนั้น

นอกจากความสนใจแล้ว บางทีเราจะพบตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ไม่เรียนไม่ได้แล้ว เช่น หากทุกคนที่ดำน้ำในกลุ่มที่เราไปดำน้ำด้วย ใช้อากาศ EAN หมด หากเราไม่ได้เรียน เราคงต้องขึ้นจากน้ำก่อนเพื่อนๆ เพราะเวลา NDL ของเราหมดก่อนเพื่อนๆ

หรือหากเรามีเป้าหมายที่จะไปดำน้ำเรือจมซึ่งจมอยู่ที่ความลึก 40 เมตร หากเราอยากลงไปดูเรือจมโดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเป็นอันตราย เราก็ควรที่จะไปเรียน Deep Specialty ก่อนที่จะออกทริปนั้น เพื่อความมั่นใจว่า เราจะตัดสินใจไม่ผิดหากเกิดอะไรขึ้น เพราะเราได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการกับปัญหาที่อาจจะพบได้กับการดำน้ำลึกแล้ว

ส่วนการเรียนสายอาชีพ หรือ การเรียนเพื่อทำมาหากิน เริ่มต้นจาก Divemaster ไปจนถึง Instructor ฉันไม่ขอออกความคิดเห็น .. ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย ใครใคร่เรียน เรียน

สำหรับฉัน ฉันใคร่อยากเรียน ทุกวิชาที่เกี่ยวกับการเพิ่มทักษะในการดำน้ำ ดูน่าสนใจไปหมด โดยจะเรียนอะไรก่อน หรือ หลัง ไม่สำคัญ เพราะการลงน้ำทุกครั้งคือความท้าทาย ท้าทายความรู้ความสามารถของเรา เป็นบทพิสูจน์การตัดสินใจจากสิ่งที่เราเรียนรู้มา ฉะนั้น ยิ่งรู้มาก ยิ่งจะทำให้เราตัดสินใจได้ดี รอบคอบ และจะทำให้เราเป็นนักดำน้ำที่ดี ฉันรู้ว่า หากฉันยังดำน้ำอยู่ ฉันจะหาอ่าน หาเรียนต่อไปเรื่อยๆ ยังมีอะไรอีกมากมายเหลือเกิน (ในโลกใต้ทะเล) ที่ฉันยังไม่รู้ และอยากรู้

+++นักดำน้ำที่ดี คือนักดำน้ำที่ใฝ่รู้ และมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา+++

เขียนโดย น้องTeen
นำเสนอ 13 ต.ค. 2549
ปรับปรุงล่าสุด 26 ก.ค. 2561